ยาแก้ท้องเสีย ควรใช้เมื่อไหร่ดีนะ ?

Optimal Integration  > Medical >  ยาแก้ท้องเสีย ควรใช้เมื่อไหร่ดีนะ ?

ยาแก้ท้องเสีย ควรใช้เมื่อไหร่ดีนะ ?

0 Comments
ยาแก้ท้องเสีย

“ถ่ายเหลว” และ “ท้องเสีย” แม้จะเป็นกลุ่มอาการที่ใกล้เคียงกัน แต่จริง ๆ แล้วมีข้อบ่งชี้และวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป เราจึงควรแยกแยะให้เป็น เพื่อเลือกการรักษาที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ท้องเสียผิดประเภท

ถ่ายเหลวหรือท้องเสียดูอย่างไง

              ถ่ายเหลวและท้องเสียมีสาเหตุมาจากการรับเชื้อโรคผ่านมือหรืออาหารที่กินเข้าสู่ร่างกาย ความเครียด การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมถึงการแพ้อาหารบางชนิด เช่น นมวัว

              แต่ถ่ายเหลวมักจะเป็นแค่ไม่เกิน 2 ครั้งต่อวัน สามารถดื่มน้ำเปล่าทดแทนน้ำที่สูญเสียไปและหายเองได้ในเวลาไม่นาน ส่วนท้องเสีย คือ การถ่ายเหลวมากกว่า 1 ครั้งในหนึ่งชั่วโมง หรือถ่ายเหลวต่อเนื่องมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเหลวมีมูกเลือดเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าใช่ ทั้งนี้อาจมีอาการปวดท้องเกร็ง ร่างกายอ่อนเพลีย และมีไข้อ่อน ๆ ร่วมด้วย รักษาได้โดยซื้อยาแก้ท้องเสียกินเองได้ และหายได้ภายใน 1 – 2 วัน แต่หากอาการท้องเสียนานเกิน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์

ใช้ยาแก้ท้องเสียตามอาการ

              อาการท้องเสียจะใช้หลักการรักษาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเสมอไป โดยควรค่อย ๆ ปรับระดับความเข้มข้นของการรักษาและยาแก้ท้องเสียขึ้นไป ดังนี้

  1. งดกินอาหาร 2 – 4 ชั่วโมง เพื่อให้ลำไส้หยุดการทำงาน
  2. ยาแก้ท้องเสียด่านแรกคือการดื่มน้ำเปล่าให้มาก เพื่อชดเชยน้ำที่ถูกขับออกจากร่างกาย
  3. ดื่มเกลือแร่ ORS (Oral Rehydration Salts) ผสมน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างซอง เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ โดยควรดื่มแบบค่อย ๆ จิบ ไม่ดื่มรวดเดียวหมด เพราะอาจทำให้ลำไส้แปรปรวนและท้องเสียมากกว่าเดิม นอกจากนั้นควรผสมเกลือแร่ครั้งละซอง ผสมใหม่เมื่อดื่มหมด และไม่ควรเก็บน้ำเกลือแร่ที่ดื่มไม่หมดไว้เกิน 24 ชั่วโมง รวมทั้งไม่ควรดื่มเกลือแร่สำหรับผู้เสียเหงื่อจากกีฬาแทน เพราะมีน้ำตาลสูง อาจทำให้ท้องเสียหนักกว่าเดิม
  4. หากใช้วิธีข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ยาแก้ท้องเสียกลุ่มต่อมาที่ควรใช้ คือ อัลตราคาร์บอน (Ultracarbon) มีฤทธิ์ช่วยดูดซับสารพิษออกจากร่างกาย ควรกินครั้งละ 2-4 เม็ดในผู้ใหญ่ และ 1-2 เม็ดในเด็ก วันละ 3-4 ครั้ง สามารถทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง และต้องกินห่างจากยาอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการกินพร้อมนม โดยอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระมีสีดำ ท้องอืด ท้องผูก ปากคล้ำ เป็นต้น
  5. โลเพอราไมด์ (Loperamide) หรือชื่อทางการค้าว่า Imodiumn เป็นยาแก้ท้องเสียที่มีฤทธิ์ยับยั้งให้ลำไส้หยุดขับถ่าย ใช้ในกรณีที่มีอาการท้องเสียมากและยังไม่สะดวกไปพบแพทย์เท่านั้น ควรเริ่มกินที่ 4 มก. ก่อน หากยังมีอาการอยู่สามารถกินเพิ่มได้อีกครั้งละ 2 มก.ทุกครั้งที่ถ่าย แต่ไม่เกิน 8 มก./วัน หรือใช้ตามแพทย์สั่งได้ไม่เกิน 16 มก./วัน ระมัดระวังอย่ากินเกินขนาด เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิตได้ และไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยผลข้างเคียงจากยา ได้แก่ ปากแห้ง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง ท้องผูก ง่วงนอน ฯลฯ
  6. หากกินยาแก้ท้องเสียข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับยาปฏิชีวนะเพิ่มเติมทันที

โปรดจำไว้เสมอว่าอาการท้องเสียเป็นกลไกที่ร่างกายใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคตามธรรมชาติ หากคุณถ่ายเหลวแต่ไม่ใช่ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่ใช่ผู้สูงอายุ หรือไม่ได้มีโรคเรื้อรังอื่น ๆ วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือปล่อยให้ร่างกายได้ขับถ่ายออกมา ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ท้องเสียประเภทปฏิชีวนะแต่อย่างใด เพราะหากใช้ยานี้พร่ำเพรื่อและกินไม่ครบตามที่กำหนด อาจทำให้เกิดอาการดื้อยาได้และรักษาให้หายได้ยากขึ้น